ในฐานะบุคลิกภาพแบบ INFP (ผู้ไกล่เกลี่ย) คุณมักจะรู้สึกลึกซึ้งกับทุกสิ่งเสมอ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของตัวเอง แต่รวมถึงของคนอื่นด้วยเช่นกัน คำเชิญไปงานเลี้ยงที่คุณไม่อยากไป? คุณสามารถจินตนาการถึงสีหน้าผิดหวังของเพื่อนหากคุณตอบปฏิเสธ ความคิดเห็นที่คุณกลั้นเอาไว้? คุณรู้สึกได้ถึงมันที่ก่อตัวอยู่ข้างใน แต่แค่คิดว่าจะทำให้เกิดความตึงเครียด คุณก็เลือกที่จะเงียบเสียแล้ว
ความเห็นอกเห็นใจของคุณคือทั้งพลังและจุดอ่อน เพราะมันทำให้คุณรับรู้ถึงความรู้สึกของคนรอบข้างอย่างลึกซึ้ง แม้จะต้องแลกกับความต้องการของตัวเองก็ตาม คุณอาจจะพูดว่า “ใช่” ทั้งที่อยากจะพูดว่า “ไม่” เพียงเพราะไม่อยากทำให้คนอื่นผิดหวัง ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าใช่ นั่นแสดงว่าคุณอาจติดอยู่ในวงจรของการเอาใจคนอื่น เห็นความต้องการของคนอื่นสำคัญกว่าของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
บทความนี้จะพาคุณสำรวจว่าทำไม INFP ถึงมักตกหลุมพรางของการเอาใจคนอื่น และจะแนะนำวิธีที่จะช่วยให้คุณเริ่มกลับมาใส่ใจความต้องการของตัวเอง รวมทั้งเหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญต่อชีวิตคุณ
บทความเรื่อง INFP กับการเอาใจคนอื่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ในวงกว้าง อ่านต่อได้ที่บทความ “การเอาใจคนอื่นและบุคลิกภาพ: ทำไมเราถึงมองความต้องการของคนอื่นสำคัญกว่าตัวเอง”
สำรวจแนวโน้มการเอาใจคนอื่นในบุคลิกภาพ INFP
การผสมผสานของลักษณะนิสัยเฉพาะตัวใน INFP มักทำให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมเอาใจคนอื่นในความสัมพันธ์ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง
อย่างที่กล่าวไป ความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งคือรากฐานสำคัญของคุณ ซึ่งทำให้คุณสามารถรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่นอย่างชัดเจน ความผิดหวังของเขา ก็กลายเป็นความผิดหวังของคุณ ความสุขของเขา ก็สามารถเติมเต็มโลกของคุณได้ อารมณ์ที่สอดคล้องกันนี้ ทำให้คุณรู้สึกอยากปกป้องความรู้สึกของผู้อื่นอยู่เสมอ บางครั้งถึงขั้นที่คุณละเลยความต้องการของตัวเอง
อาจไม่แปลกเลยที่ 83% ของ INFP กล่าวว่าตนมักตอบตกลงกับสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะกลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง จากการสำรวจในหัวข้อ “การเอาใจคนอื่น”
และพฤติกรรมนี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อ INFP ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจเกิดความขัดแย้ง เพียงแค่คิดว่าจะต้องเผชิญหน้ากับใครบางคน ก็อาจทำให้เกิดภาพเหตุการณ์แย่ ๆ มากมายในหัว เพื่อเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น คุณอาจเลือกที่จะเงียบและทำตามสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ
ผลสำรวจของเรายังเผยให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า 88% ของ INFP กล่าวว่า พวกเขามักเก็บความรู้สึกแท้จริงของตัวเองไว้เพราะไม่อยากทำร้ายจิตใจคนอื่น — เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดในบรรดาบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า INFP มักให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่นมากกว่าการแสดงออกถึงตัวตนอย่างแท้จริง คุณอาจรู้สึกว่าสบายใจกว่าหากจะกักเก็บความคิดและความรู้สึกไว้ภายใน และปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านั้นกลายเป็นความจริงที่ไม่ได้พูดออกมาเรื่อย ๆ แต่ต้องแลกกับอะไรบ้าง?
แม้ว่า INFP ทุกคนจะประสบปัญหาในการเอาใจคนอื่น แต่กลุ่ม INFP ที่ร้อนรน (INFP-T) จะยิ่งยากที่จะหลุดพ้นจากพฤติกรรมแบบนี้ได้ งานวิจัยของเราพบความแตกต่างที่ชัดเจน: 88% ของ INFP-T กังวลเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับตนเองอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่มีเพียง 33% ของ INFP ที่มั่นใจ (INFP-A) เท่านั้นที่รู้สึกเช่นนั้น ซึ่งความแตกต่างนี้ อธิบายได้ว่าทำไม INFP-T ถึงมักยอมตามใจคนอื่นก่อนเสมอ
สำหรับ INFP-T ความกลัวว่าจะถูกปฏิเสธหรือไม่เป็นที่ยอมรับ บวกกับความเห็นอกเห็นใจที่มีโดยธรรมชาติ ทำให้กลายเป็นสูตรสำเร็จของพฤติกรรมการเอาใจ พวกเขามีความคลางแคลงใจในตัวเองสูง จึงมักละทิ้งความต้องการของตัวเองเพื่อให้เกิดความกลมกลืนในความสัมพันธ์ และด้วยความที่มักตำหนิตัวเองเมื่อเกิดปัญหา จึงยิ่งยากที่จะกล้าออกจากวงจรเดิม ๆ การตั้งขอบเขตขึ้นมาสักครั้ง จึงเหมือนกับการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะ "สูญเสีย" การยอมรับที่เขาต้องการอย่างลึกซึ้ง
วิธีหยุดเป็นคนเอาใจคนอื่น
การมองเห็นผู้อื่นก่อนอาจทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งการเชื่อมต่ออันงดงามร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากการเอาใจคนอื่นกลายเป็นสิ่งที่เราทำโดยอัตโนมัติ สุขภาพจิตและความเป็นตัวเองของเราก็อาจถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย
การเอาใจคนอื่นเรื้อรัง อาจนำไปสู่ความเหน็ดเหนื่อย ความสัมพันธ์ที่บอบช้ำ และความรู้สึกว่าตัวตนหายไป คุณอาจรู้สึกว่ากำลังเล่นบทบาทเพื่อนอยู่ แต่ไม่ได้รับการเข้าใจอย่างแท้จริง ตอบตกลงกับบางสิ่งที่บั่นทอนพลังงานของคุณ หรือตั้งความสัมพันธ์ไว้บนฐานของความคาดหวังของผู้อื่น แทนที่จะเป็นความเคารพและความเข้าใจร่วมกัน
อยากเริ่มก้าวข้ามข้อจำกัดของการเอาใจคนอื่นหรือยัง? มาสำรวจสามกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วย INFP อย่างคุณให้กลับมาเห็นความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง
กลยุทธ์ที่ 1: สร้างระยะให้ได้ใช้เวลาทบทวน
บุคลิกภาพ INFP เป็นคนที่คิดลึกและใคร่ครวญอยู่แล้ว แต่คุณอาจมักตอบตกลงกับคำขอ ก่อนจะมีเวลาได้ตรวจสอบความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเอง แล้วถ้าคุณหยุดระบบการตอบสนองแบบอัตโนมัตินี้ได้ล่ะ? ถ้าคุณสร้างช่องว่างก่อนจะให้คำตอบได้ล่ะ?
เพื่อคลายพฤติกรรมเอาใจคนอื่น ลองให้เวลาระหว่างคำขอและคำตอบให้มากขึ้น เมื่อมีคนขออะไรจากคุณ ลองใช้คำตอบง่าย ๆ แบบนี้:
- “ขอเช็กพลังงานตัวเองก่อน แล้วจะตอบพรุ่งนี้นะ”
- “ขอบคุณที่นึกถึงกัน! ขอเวลาไตร่ตรองนิดนึงก่อน”
- “ขอคิดดูก่อน แล้วแจ้งให้ทราบภายใน [ระบุเวลา] ได้ไหม”
ช่วงเวลานี้จะช่วยให้คุณได้ฟังเสียงความรู้สึกของตัวเอง ทบทวนพลังงานที่มี และดูว่าคุณสามารถสละเวลาให้ได้แค่ไหนอย่างสบายใจ
คนส่วนใหญ่มักเคารพการที่คุณขอเวลาในการพิจารณา และหลายครั้ง พวกเขาจะซาบซึ้งกับความรอบคอบของคุณมากกว่าคำตอบเร่งรีบที่อาจลงเอยด้วยการตอบรับแบบไม่เต็มใจหรือยกเลิกในที่สุด
หากใครบางคนตอบโต้คุณในทางลบเพียงเพราะคุณขอเวลาคิดบ้าง นั่นแสดงถึงบางสิ่งที่สำคัญ — คนที่ไม่เคารพสิทธิของคุณในการทบทวนความรู้สึก อาจไม่ได้หวังดีต่อคุณจริง ๆ ความสัมพันธ์ที่ดีควรเปิดพื้นที่ให้ความต้องการของทั้งสองฝ่าย
กลยุทธ์ที่ 2: เขียนความคิดให้ชัดเจน
เมื่อคุณสร้างพื้นที่ให้ตัวเองในการทบทวนความรู้สึกแล้ว ความท้าทายต่อไปก็คือการหาคำพูดที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดออกมา
ความคิดที่วนเวียนและอารมณ์หลากหลายที่ดูเหมือนจะพูดออกมาได้ยาก หากคุณเป็น INFP พวกมันอาจจะไหลลื่นผ่านปลายนิ้วได้มากกว่าผ่านปาก ก่อนการสนทนาที่สำคัญเกี่ยวกับความต้องการหรือขอบเขตของคุณ ลองเขียนมันออกมาดูก่อน
เปิดสมุดบันทึกหรือแอปโน้ต แล้วปล่อยให้สิ่งที่อยู่ในใจไหลออกมา คุณอาจเขียนว่าทำไมถึงพูด "ไม่" ได้ยาก คุณอยากจะพูดอะไรจริง ๆ หรือคุณจะสื่อสารความต้องการของตัวเองอย่างสุภาพแต่มั่นคงได้อย่างไร แค่เพียงการเขียน ก็สามารถแปลงความรู้สึกกำกวมให้กลายเป็นความคิดที่ชัดเจน ทำให้คุณสามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อถึงเวลา
กลยุทธ์ที่ 3: ใช้จินตนาการให้เป็นประโยชน์
เมื่อคุณต้องตั้งขอบเขตหรือแสดงความต้องการ คุณอาจเริ่มจินตนาการถึงผลลัพธ์ในทางลบ — ความรู้สึกที่อาจถูกทำร้าย ความสัมพันธ์ที่เสียไป การเผชิญหน้าที่ไม่สบายใจ ฯลฯ แล้วถ้าคุณสามารถหันใช้พลังจินตนาการของ INFP ไปในทางที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ล่ะ?
แทนที่จะปล่อยให้จินตนาการของคุณพลิกไปแต่ในแง่ร้าย ลองเปลี่ยนมุมมองด้วยวิธีเหล่านี้:
- จินตนาการว่าคุณเห็นเพื่อนสนิทอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คุณจะให้คำแนะนำอะไร
- นึกภาพการสนทนาในแง่บวกที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าได้รับฟังและเข้าใจ
- ระลึกถึงช่วงเวลาที่ความซื่อตรงทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น แล้วให้ความทรงจำนั้นนำทางคุณ
จินตนาการอันแกร่งกล้าของคุณสามารถเป็นพลังหนุนที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่แค่ปลุกความกลัว ให้มันช่วยชี้ทางข้างหน้า ดีกว่าดึงคุณกลับ
เมื่อคุณลองกลยุทธ์เหล่านี้ ให้เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ก้าวไปสู่สถานการณ์ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ทุกย่างก้าวที่คุณตัดสินใจฟังเสียงของตัวเอง ล้วนเป็นการเดินหน้าไปในทางที่ดี
บทส่งท้าย
โปรดจำไว้ว่า การลดนิสัยการเอาใจคนอื่น ไม่ได้แปลว่าคุณต้องละทิ้งความเมตตาของตนเอง แต่มันคือการเปิดพื้นที่ให้ความห่วงใยและความซื่อตรงอยู่ร่วมกันได้ และเมื่อคุณเคารพทั้งความเห็นอกเห็นใจและขอบเขตของตัวเอง คุณจะเปิดทางให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและจริงใจมากขึ้น — ความสัมพันธ์ที่หัวใจของ INFP อย่างคุณโหยหาอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม
- อ่าน บทความอื่น ๆ ในซีรีส์ เกี่ยวกับวิธีที่บุคลิกภาพประเภทต่าง ๆ สามารถเอาชนะนิสัยเอาใจคนอื่นได้อย่างไร
- วิธีให้อภัยตัวเองในแบบ INFP: จากการวิจารณ์ตัวเองสู่ความเมตตาต่อตัวเอง
- ผู้ไกล่เกลี่ย (INFP) กับการสะท้อนตนเอง: ค้นพบความกลมกลืนภายใน
- บุคลิกภาพ INFP กับสามมิติของความเหงา
- อยากรู้เพิ่มเติมว่าคุณเป็นคนแบบไหน? รับรายงานแบบ Premium Report พร้อมคุณลักษณะเพิ่มเติมอีก 12 อย่างที่จะช่วยให้คุณเข้าใจ INFP ของคุณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น